วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สาเหตุการง่วงนอนตอนกลางวัน

สาเหตุการง่วงนอนตอนกลางวัน  

   ผู้เขียนมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพมากมาย ซึ่งแต่ละปัญหานั้นบั่นทอนสภาพจิตใจผู้เขียนอย่างมาก หนึ่งในปัญหานั้นคือ การง่วงนอนตอนกลางวัน ซึ่งเมือนึกย้อนกลับไปนั้นผู้เขียนเป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว ก็เหมือนอาการอื่นๆที่เป็นสะสมมานาน อยู่กับอาการผิดปกติของร่างกายมานานจนชาชินหรือรู้สึกว่าอาการเจ็บป่วยนั้นเป็นสิ่งปกติของตัวเองไป  อาการง่วงนอนตอนกลางวันของผู้เขียนนั้น มันมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้าไม่มีแรงใจแรงกายในการปฏิบัติงาน หรือกิจกรรมใดเลย เท่าที่สังเกตอาการหลายอย่างที่ผู้เขียนเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัว ปวดคอ ไหล่ แขน มือชา ปวดเอว ร้าวลงขาไปชาที่เท้านั้น(ปวดซีกขวา)ล้วนเกี่ยวพันกันจนผู้เขียนแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นสาเหตุของอาการอะไร แต่ทุกครั้งจะรู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ง่วงนอน อยากจะนอนอยากพักผ่อนตลอดเวลา  จนไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนให้มีประสิทธิภาพได้ ตัดสินใจลาพักดีกว่า
   ก็ได้มีเวลาทบทวนอาการ สาเหตุ วิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยตัวเองหลายๆแนวทาง จากที่ไม่เคยรู้ว่าต้องจัดการดูและสุขภาพตัวเองยังไง ก็ได้รู้จากการหาความรู้จากบทความของผู้รู้ในด้านต่างๆก ได้รู้ สาเหตุ  การบรรเทาอาการ การรักษา การป้องกัน การปรับสมดุลต่างๆของร่างกาย  และหนึ่งในผู้รู้ที่ผู้เขียนได้นำพาบทความของท่านมาปฏิบัติ เพื่อบรรเทาอาการผิดปกติของตนเอง คือ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ท่านมีบทความดีๆเกี่ยวกับสุขภาพมากมาย ซึ่งผู้เขียนนำมาปฏิบัติแล้วอาการหลายอย่างดีขึ้นมากแล้ว โดยเฉพาะการทำกายบริหารด้วยท่ารำกระบองของ คุณป้า บุญมี เครือรัตน์ ที่ท่านแนะนำไว้ได้ผลดีมาก ซึ่งจะกล่าวถึงท่ารำกระบองบำบัดในภายหลัง วันนี้ว่าจะแนะนำบทความเกี่ยวกับสาเหตุการง่วงนอนตอนกลางวันซะหน่อย ร่ายซะยาวเลย ก็ขออนุญาตินำบทความของ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ เกี่ยวกับอาการดังกล่าวดังนี้

..................................
สาเหตุการง่วงนอนตอนกลางวัน

1.
เวลานอนไม่พอ แต่ละคนต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน บางคน 6 ชั่วโมงพอ บางคน 8 ชั่วโมงถึงจะพอ ยิ่งไปกว่านั้น ในคนคนเดียวกัน แต่ต่างเวลาต่างสภาพการณ์ ก็ต้องการเวลานอนไม่เท่ากัน คนที่เคยอยู่วัยหนุ่มฟิตๆ พอเข้าวัยกลางคนความฟิตน้อยลงจะต้องการเวลานอนมากขึ้น คนที่อดนอนมาหลายวัน จะขาดการนอนสะสม ต้องนอนชดใช้ย้อนหลังให้มากกว่าเวลาที่อดนอนไป คนไม่เคยออกกำลังกาย พอมาออกกำลังกาย ก็ต้องนอนมากขึ้น การจะรู้ว่าเวลานอนเราพอหรือไม่มีวิธีเดียว คือจัดเวลานอนเพิ่มให้ชัวร์ๆว่าได้นอนเต็มที่วันละ 8 ชั่วโมงอย่างน้อยสักเจ็ดวัน ถ้าอาการง่วงยังไม่หายไป แสดงว่าง่วงจากสาเหตุอื่น ไม่ใช้เพราะเวลานอนไม่พอ

2.
ลักษณะการทำงานเป็นกะ จะทำให้มีอาการง่วงนอนทั้งๆที่ได้จัดเวลานอนพอแล้ว เพราะการนอนกลางวันมักชดเชยการนอนกลางคืนตามธรรมชาติไม่ได้

3.
เป็นโรคนอนไม่หลับ (insomnia) นอนตาค้าง ฟุ้งสร้าน สติแตก พลิกไปพลิกมา

4.
เป็นโรคหยุดหายใจระหว่างหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) หรือเรียกแบบชาวบ้านว่าโรคนอนกรน ตามนิยามของวิทยาลัยอายุรศาสตร์การนอนหลับอเมริกา (AASM) โรคนี้คือภาวะที่ทางเดินลมหายใจส่วนบนยุบตัวลงระหว่างนอนหลับ ทำให้หยุดหายใจไปเลย (apnea) นานครั้งละ 10 วินาทีขึ้นไปแล้วสะดุ้งตื่น (arousal) ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 5 ครั้ง หรือมี ดัชนีการรบกวนการหายใจ (Respiratory Distress Index, RDI)” ซึ่งเป็นตัวเลขบอกว่าคนคนนั้นต้องสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจแบบใดๆ (respiratory event–related arousals, RERA) มากกว่าชั่วโมงละ 15 ครั้งขึ้นไป ทั้งหมดนี้ต้องร่วมกับการมีอาการง่วงตอนกลางวัน โดยที่ไม่อาจบรรเทาได้โดยการใช้ยาใดๆช่วย คนเป็นโรคหยุดหายใจระหว่างหลับนี้มักเกิดหยุดหายใจไปเลยคืนละหลายครั้งหรือเป็นร้อยๆครั้ง ทำให้มีเสียงกรนดังในจังหวะทางเดินลมหายใจเปิดและลมที่ค้างอยู่ในปอดถูกพ่นออกมา
คนเป็นโรคนี้จะมีอาการง่วงนอนตอนกลางวัน (EDS, excessive daytime sleepiness) มึนงงตั้งแต่เช้า ความจำเสื่อม สมองไม่แล่น ไม่ว่องไว บุคลิกอารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า กังวล หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นโรคกรดไหลย้อน โรคนี้มักเป็นกับคนอายุ 40-65 ปี อ้วน ลงพุง คอใหญ่ วัดรอบคอได้เกิน 17 นิ้ว หรือมีโครงสร้างของกระดูกกระโหลกศีรษะและหน้าเอื้อให้เป็น เช่นกรามเล็ก เพดานปากสูง กระดูกแบ่งครึ่งจมูกคด มีโพลิพในจมูก หรือมีกายวิภาคของทางเดินลมหายใจส่วนบนผิดปกติ เช่น เป็นไฮโปไทรอยด์ ลิ้นใหญ่ ถ้าเป็นหญิงก็มักหมดประจำเดือนแล้ว กรรมพันธ์ สิ่งแวดล้อมเช่น สูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ยานอนหลับ OSA มักเกิดในท่านอนหงาย

แล้วจะทำอย่างไรต่อไปดี ผมแนะนำให้ทำเป็นขั้นตอนดังนี้

1.
ประเมินตัวเองว่าคุณเป็นโรคนอนไม่หลับ (insomnia) หรือเปล่า ถ้านอนตาค้างคิดโน่นคิดนี่ นั่นแหละคือเป็นโรคนอนไม่หลับ ถ้าเป็นก็ต้องแก้ปัญหาการนอนไม่หลับด้วยวิธี (1) ออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐานทุกวัน (2) เข้านอนให้ตรงเวลาเดิมทุกวัน (3) อย่าทำอะไรตื่นเต้นก่อนนอน แม้กระทั่งการดูทีวีหรืออ่านหนังสือตื่นเต้น (4) ทำบรรยากาศห้องนอนให้เงียบและมืด (5) ฝึกสติสมาธิไม่ให้ฟุ้งสร้าน (6) ถ้ายังไม่หายก็ไปหาหมอที่คลินิกจิตเวชเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับ

2.
ถ้าไม่ได้เป็นโรคนอนไม่หลับ ให้ทดลองจัดเวลานอนเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 8 ชม.ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน แล้วดูว่าอาการหายไปไหม

3.
ถ้าอาการยังไม่หาย ให้ไปที่คลินิกอายุรกรรมโรคปอด หรือคลินิกนอนกรน ที่มีแพทย์เชี่ยวชาญเรื่องโรคนอนกรน (OSA) ให้เตรียมใจไว้เลยว่าหมออาจให้เข้าไปนอนในห้อง sleep lab เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นก็ต้องทดลองใช้มาตรการทั่วไปดู คือ การลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน) การเลิกบุหรี่ เลิกแอลกอฮอล์ เลิกยากล่อมประสาท-ยานอนหลับ และหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย ถ้ายังไม่หายก็ต้องเลือกวิธีรักษาวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธี คือ (1) ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น เครื่องเพื่มความดันลมหายใจแบบต่อเนื่องผ่านจมูก (nasal CPAP) หรือ (2) การผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธี ส่วนใหญ่มีความสำเร็จ เพียงประมาณ 50% ของผู้เข้าผ่าตัดเท่านั้น (ความสำเร็จนี้วัดจากการลดจำนวนครั้งของการสะดุ้งตื่นเพราะการรบกวนการหายใจลงได้อย่างน้อย 50%) และมีเหมือนกันประมาณ 31% ที่ทำผ่าตัดชนิดนี้แล้วอาการกลับแย่ลง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ http://visitdrsant.blogspot.com/
……………………………….
   จริงๆแล้วสาเหตุอาการของผู้เขียนมีหลายสาเหตุด้วยกันอย่างที่บอก แต่ในตอนนี้หลังจากพักงานมาประมาณสองเดือนแล้ว และได้ปฏิบัติกายบริหารต่างๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ร่างกาย การใช้ชีวิต ตอนนี้อาการเริ่มดีขึ้นหลายอย่างแล้ว(พึ่งการใช้ยาน้อยมาก) ซึ่งผู้เขียนจะได้บอกกล่าวสิ่งที่ผู้เขียนได้ปฏิบัติแล้วอาการดีขึ้นหรือเปลื่ยนแปลงไปอย่างไร จากการได้ปฏิบัติด้วยตัวเองเพื่อตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น