วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปวดหลัง /Back pain:

ปวดหลัง /Back pain:จาก หน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพคลีนิค ผู้ป่วยนอก ออร์โทบิดิกส์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
จารุณี นันทวโนทยาน รวบรวม ร.ศ. นพ. วิเชียร เลาหเจริญสมบัติ ที่ปรีกษา

ปวดหลัง-ปวดเอว เป็นอาการที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน จากสถิติ มนุษย์ร้อยละ 80 เคยมี
ประสบการณ์การปวดหลัง-ปวดเอว อาการปวดจะแสดงได้ต่าง ๆ กัน บางท่านอาจปวดเฉพาะ
บริเวณหลังหรือกระเบนเหน็บ หรือบางท่านอาจปวดหลัง และร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง
สองข้างและมีอาการชาร่วมด้วยจนเดินไม่ได้ก็มี
หลังที่สมบูรณ์แข็งแรงจะยืดหยุ่นและไม่ปวดมีการทำงานของระบบโครงสร้าง คือ
กระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกกล้ามเนื้อและเอ็นอย่างเหมาะสม และปกป้องอันตรายไม่ให้เกิด
กับประสาทไขสันหลัง

สาเหตุอาการปวดหลัง 
1.) การใช้กิริยาท่าทางต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง
2.) ความเสื่อมของกระดูกและข้อจากวัยที่สูงขึ้น
3.) ขาดการออกกำลังกายหรือมีการเคลื่อนไหวที่จำกัด
4.) ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด เช่น หลังคด หลังแอ่น
5.) การมีการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น วัณโรคของกระดูกสันหลัง
6.) การได้รับอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง
7.) การมีเนื้องอกของประสาทไขสันหลังหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมายังกระดูกสันหลัง
8.) อาการปวดร้าวมายังหลังจากโรคของอวัยวะในระบบอื่น ๆ เช่นนิ่วในไต เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน
9.) ปัญหาที่ทำให้เกิดความตึงเครียด และความวิตกกังวลในชีวิต

การป้องกันอาการปวดหลัง 
1.) เรียนรู้การใช้กิริยาท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
2.) หลีกเหลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน
3.) หลีกเหลี่ยงการใช้แรงงานมาก ๆ และรู้ถึงขีดจำกัดกำลังของตัวเองในการยกของหนัก
4.) ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน ซึ่งทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวต้องรับน้ำหนักมาก โดย
     รับประทานอาหารที่มีประโยชน์สำหรับร่างกายให้ครบทุกประเภท
5.) บำรุงรักษาสุขภาพร่างกายทั่วไปให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ร่วมกับการออกกำลังกาย
     กลางแจ้ง เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ รำมวยจีน จะช่วยลดอาการปวดหลังจากการทำงาน
6.) ออกกำลังบริหารร่างกาย ป้องกันอาการปวดหลังอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถึงแม้ในปัจจุบัน
      ยังไม่มีอาการปวดหลัง
7.) ปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการ หรือสังเกตุเห็นความผิดปกติ

การบริหารร่างกายป้องกันอาการปวดหลัง 
1. ประโยชน์ 
1.1 ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวไม่เกร็ง และแข็งแรงอยู่เสมอ
1.2 กระดูกและข้อเสื่อมช้าลง

2. หลักการ 
2.1 เป็นการออกกำลังบริหารร่างกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หน้าท้อง หลัง
       ตะโพก และต้นขา และเพื่อยึดกล้ามเนื้อด้านหลังของหลังและขา
2.2 ควรออกกำลังบริหารด้วยความตั้งใจ ทำช้า ๆ ไม่หักโหม บริหารอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
       เช้า – เย็น และในแต่ละท่าการบริหารทำประมาณ 10 ครั้ง
2.3 ท่าบริหารท่าใดท่าที่ทำแล้วมีอาการปวดหลังมากขึ้น ให้งดทำในท่านั้น ๆ

3. ท่าการบริหารป้องกันอาการปวดหลัง 
ท่านเตรียมบริหาร
นอนหงายบนที่ราบ ศรีษะหนุนหมอน ขาเหยียดตรง มือวางข้างลำตัว

ท่าที่ 1 ยืดกล้ามเนื้อด้านหลังของขา 
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าข้างหนึ่งขึ้นและวางเท้าราบกับพื้น ส่วนขาอีกข้างหนึ่งเหยียดตรง
วางราบกับพื้น ยกขาที่เหยียดตรงนี้ขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่ยกได้ โดยแผ่นหลังแนบกับพื้นตลอดเวลา
ไม่เคลื่อนไหว แล้วจึงค่อย ๆ วางขานี้ลงราบกับพื้นเหมือนเดิม พักสักครู่ ทำประมาณ 10 ครั้ง
แล้วจึงสลับบริหารขากอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 2 เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องและตะโพก และลดความแอ่น
ของหลัง
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าทั้งสองข้างขึ้น วางเท้าราบกับพื้น หายใจเข้าและออกช้า ๆ
พร้อมกับแขม่วหน้าท้อง กดหลังให้ติดแนบกับพื้น และเกร็งกล้ามเนื้อก้น [ขณะเกร็งกล้ามเนื้อก้น
ก้นจะยกลอยขึ้น] ทำค้างไว้นานนับ 1-5 หรือ 5 วินาที และจึงคล้าย พักสักครู่และทำใหม่ในลักษณะ
เดียวกัน 10 ครั้ง

ท่าที่ 3 ยืดกล้ามเนื้อหลัง 
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าทั้งสองข้างเอามือกอดเข่าเข้ามาให้ชิดอก และยกศรีษะเข้ามา
ให้คางชิดเข่า ทำค้างไว้นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ และเริ่มบริหารใหม่ในลักษณะ
เดียวกัน ทำประมาณ 10 ครั้ง

ท่าที่ 4 ยืดกล้ามเนื้อตะโพก 
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร เอามือกอดเข่าข้างหนึ่งเข้ามาให้ชิดอก พร้อมกับขาอีกข้างเหยียดตรง
เกร็งแนบกับพื้น ทำค้างไว้นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึง
สลับบริหารขาอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

ท่าที่ 5 ยืดกล้ามเนื้อสีข้าง 
เริ่มในท่าเตรียมบริหาร ตั้งเข่าข้างหนึ่งขึ้นหันเข้าด้านในของลำตัว พร้อมกับใช้สันเท้า
ของอีกขาหนึ่งกอดเข่าที่ตั้งให้ติดพื้น โดยที่ไหล่ทั้งสองข้างติดพื้นตลอดเวลา ทำค้างไว้
นานนับ 1-10 แล้วจึงคลาย พักสักครู่ และเริ่มบริหารใหม่ ทำประมาณ 10 ครั้ง แล้วจึงสลับ
บริหารขาอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

สรุป 
อาการปวดหลังสามารถป้องกันได้ในบางสาเหตุ ร่วมกับการบริหารร่างกายป้องกันอาการ
ปวดหลัง การรักษาในบางสาเหตุได้ผลมากน้อยเพียงไร ขึ้นกับปัจจัยส่งเสริมหลาย ๆ ประการ
การรักษาที่ถูกวิธีกับแพทย์เป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับท่าน ขอให้ท่านมีสุขภาพหลังที่แข็งแรงอยู่เสมอ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น